เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ว่า ศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 ได้รายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 171 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,122 คน รักษาอยู่ 1,645 คน หายแล้ว 1,441 คน เสียชีวิตอีก 2 ราย รวม 36 ราย ผู้เสียชีวิตรายที่ 35 ชายไทย อายุ 58 ปี ต.ศรีสำราญ อ.สองพี่น้อง ผู้ป่วยรายที่ 1588 จ.สุพรรณบุรี ผู้เสียชีวิต รายที่ 36 ชายไทย อายุ 42 ปี ต.นิคมกระเสียว อ.ด่านช้าง ผู้ป่วยรายที่ 1604 จ.สุพรรณบุรี ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ มาจากต่างจังหวัด จำนวน 79 ราย จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 92 ราย
ทั้งนี้ นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า “ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากใช้แนวทางนี้ เมื่อเกิดภาวะเตียงเต็ม เราจำเป็นต้องนำวิธีรักษาแบบต่างประเทศมาใช้ คือ Home Isolation หรือการกักตัวที่บ้านของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการรุนแรง แต่วิธี Home Isolation มีข้อจำกัดด้านที่อยู่อาศัย ไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกคน เนื่องจากบางบ้านอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ไม่มีห้องนอนหรือห้องน้ำแยก สุดท้ายจะส่งผลเสียต่อชุมชน เพราะเขาอาจจะเร่ร่อนออกไปเพื่อหาที่พักรักษาตัว จากการทบทวนรายงานในต่างประเทศ ปรากฏว่าหากไม่สามารถแยกกักได้ 100% จะเกิดการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัว หรือหากมีการทำ Home Isolation มากขึ้น จนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจดูแลทุกบ้านได้ทั่วถึง อาจมีการลักลอบหนีออกนอกบ้าน หรือทิ้งของเสีย/ขยะติดเชื้อกระจายสู่ชุมชน จึงเกิดวิธีรักษาแบบ Community Isolation หรือ ศูนย์พักคอยขึ้นมา (รพ.สนามอำเภอ) คือการแยกกักตัวในชุมชน ให้ผู้ป่วยมาอยู่รวมกัน ณ สถานที่หนึ่ง เพื่อลดการติดเชื้อภายในครอบครัว ทั้งช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ในการส่งอาหาร/ยารักษาโรค และผู้ป่วยจะได้อยู่ภายใต้การดูแล สังเกตอาการ จากเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด
แล้วทำไมต้องสร้างใกล้ชุมชน ทำไมต้องมาใช้วัด โรงเรียน หอประชุม รีสอร์ท เพราะ 1.เตียงเต็มแล้ว ทั้งใน รพ.ใหญ่ และ รพ.สนาม ไม่มีสถานที่อื่นแล้ว ที่สามารถรองรับคนจำนวนมากได้ 2.ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ : ใน Community อาจไม่ได้มีทีมหมอ/พยาบาล ดูแลใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนในโรงพยาบาลใหญ่ ดังนั้นกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน การจัดตั้งในจุดที่ไม่ไกลจาก รพ.สต. มากนัก จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทัน และสามารถจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือจาก รพ.สต. มาใช้ยังศูนย์พักคอยได้ทันเวลา เราจึงจำเป็นต้องเลือกแนวทางที่จะเกิดผลกระทบน้อยที่สุด คือจัดตั้ง Community Isolation ขึ้นมา ภายใต้มาตรการการดูแลป้องกัน มีรั้วรอบขอบชิด ไม่ติดบ้านคน และมีการปรับปรุงพื้นที่เพิ่มความปลอดภัย รวมถึงจัดการระบบสาธารณสุข มีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ สามารถจัดการของเสียหรือขยะแยกจากชุมชนได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากใช้แนวทางนี้ แต่หากวันนี้ชุมชนต้องเลือกระหว่างต่างคนต่างรักษาแบบ Home Isolation ทั้งหมด กับการรักษาแบบ Community Isolation วิธีไหนจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า วิธีไหนจะป้องการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ชุมชนได้มากกว่า ต้องพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้าน
ดังนั้นต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือของทุกคนในชุมชนด้วยครับ ตอนนี้มีผู้ป่วยรอเข้ารับการรักษาอยู่ ไม่สามารถรอช้าได้ เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไปคือชีวิต ขอความร่วมมือด้วยครับ”
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่