สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
วัดบ้านกร่าง วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งอยู่ ตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณหรือแม่น้ำท่าจีน นับได้ว่าเป็นกรุพระเครื่องเก่าแก่ของจังหวัดสุพรรณบุรีกรุหนึ่ง ที่มีการขุดค้นพบพระเครื่องอันลือชื่อเป็นพระอันดับต้นๆ ของจังหวัดและเป็นที่นิยมสะสมอย่างกว้างขวาง
สันนิษฐานว่า “พระกรุวัดบ้านกร่าง” น่าจะเป็นพระพิมพ์ที่สร้างในสมัย ‘สมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ เมื่อครั้งเดินทัพมาที่เมืองสุพรรณเพื่อสู้รบกับกองทัพพม่าซึ่งมีพระมหาอุปราชเป็นแม่ทัพใหญ่ พระองค์ทรงสร้างพระเครื่องที่วัดบ้านกร่าง เพื่อให้ทหารที่ออกรบนำติดตัวไว้เพื่อให้แคล้วคลาดปลอดภัยในการสงคราม ในสมัยนั้น คติความเชื่อของคนโบราณถือกันว่า“พระนั้นต้องอยู่ที่วัด” ดังนั้นเมื่อการสงครามสิ้นสุด บรรดาทหารหาญทั้งหลายจึงนำพระทั้งหมดมารวมไว้ที่วัดบ้านกร่างตามเดิม ไม่นำพระติดตัวกลับบ้านกันสักคน นอกจากนี้ยังได้สร้างพระเจดีย์บรรจุไว้ด้วย
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ประกอบการสันนิษฐาน ก็คือ มีพระกรุวัดบ้านกร่างพิมพ์หนึ่งซึ่งลักษณะพิมพ์ทรงเป็นแบบเดียวกับพระกรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา อันเป็นที่ทราบกันอย่างแน่นอนว่าสร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระพิมพ์นั้นคือ “พระขุนแผนเคลือบ” แต่จะผิดกันก็ตรงที่ความประณีตและเนื้อมวลสาร ซึ่งพระขุนแผนของวัดบ้านกร่างจะมีความประณีตด้อยกว่า อาจสืบเนื่องจากเป็นการสร้างในช่วงทำศึกสงครามจึงต้องเร่งรีบ ไม่มีเวลามาประณีตบรรจงให้งดงาม
ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่สันนิษฐาน พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่างจะต้องสร้างขึ้นก่อนพระขุนแผนเคลือบกรุวัดใหญ่ชัยมงคลอย่างแน่นอน รวมทั้งพระพิมพ์อื่นๆ ที่แตกกรุออกมาพร้อมกันด้วย
พระที่แตกกรุออกมาจากกรุพระเจดีย์เก่าที่ชำรุดทรุดโทรมของวัดบ้านกร่าง ส่วนใหญ่จะเป็นพระตระกูลขุนแผนพิมพ์ต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมากมายนับหมื่นองค์ และเป็นเนื้อเดียวกันหมดคือ ‘เนื้อดิน’ ลักษณะเป็นดินหยาบเต็มไปด้วยเม็ดกรวดทราย มีโพรงอากาศ ที่ดูแล้วว่าเป็นเนื้อดินละเอียดก็ยังหยาบกว่าพระเนื้อดินของกรุอื่นๆ
ส่วนในด้านของพุทธคุณนั้น อย่างที่ทราบว่าสร้างในคราวศึกสงคราม ดังนั้น พุทธคุณจึงเน้นไปในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรียอดเยี่ยมนัก นอกจากนี้ ยังปรากฏเป็นเลิศสูงส่งในด้านเมตตามหานิยม ตามนามที่ตั้งตามชื่อพระเอกในวรรณคดี “ขุนแผน” อีกด้วย
‘พระกรุวัดบ้านกร่าง’ ที่นับว่าเป็นพระยอดนิยมในอันดับต้นๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ก็มี พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลใหญ่ และ พระขุนแผน พิมพ์อกใหญ่
พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลใหญ่ เป็นพระพิมพ์รูปทรงห้าเหลี่ยม องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ ภายในซุ้มเรือนแก้ว เป็นพระที่มีขนาดใหญ่กว่าพระตระกูลขุนแผนทั้งหมด คือ สูงประมาณ 5 ซม. และกว้างประมาณ 3.5 ซม. มีพุทธลักษณะงดงามตามแบบพุทธศิลปะสมัยอยุธยา พุทธคุณยอดเยี่ยมในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี
พระขุนแผน พิมพ์อกใหญ่ หรือ พระขุนแผนห้าเหลี่ยม อกใหญ่ เป็นพระพิมพ์ที่มีพุทธลักษณะเดียวกับพระขุนแผนกรุวัดใหญ่ชัยมงคล มีรูปทรงห้าเหลี่ยม องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ภายในซุ้มเรือนแก้ว มีเอกลักษณ์สำคัญที่ ‘พระเกศทะลุซุ้ม’ ความสูงประมาณ 4.5 ซม. และกว้างประมาณ 3 ซม. นับเป็นพระยอดเยี่ยมของเมืองสุพรรณบุรี องค์พระแลดูสง่าผ่าเผย งดงาม มีพุทธคุณเป็นเลิศทั้งแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และยอดเยี่ยมทางเมตตามหานิยม
นอกจากนี้ ยังมีพระพิมพ์ต่างๆ อีกมากมาย อาทิ พระขุนแผน พิมพ์อกเล็ก, พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลเล็ก, พระขุนแผน พิมพ์แขนอ่อน, พระพลายเดี่ยว พิมพ์หน้าเทวดา, พระพลายเดี่ยว พิมพ์หน้าฤาษี, พระพลายคู่ พิมพ์อกครุฑ, พระพลายคู่พิมพ์หน้ากลม ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีพุทธคุณเป็นเลิศ มีความงดงามและเป็นที่นิยมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องลดหลั่นกันไปครับผม