“กรมราชทัณฑ์” เผยผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ 545 ราย เตรียม EXIT เรือนจำ 6 แห่ง ต้นเดือน ส.ค.นี้ พร้อมกำชับทุกฝ่าย เข้มมาตรการป้องกันเชื้อ – เน้นทำความเข้าใจระบบให้ชัดเจน
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑ สถาน (ข้อมูลวันที่ 21 ก.ค. เวลา 16.00 น.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 545 ราย โดยพบในเรือนจำพื้นที่ จ.สีแดง 455 ราย และพบในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 90 ราย รวมสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ระหว่างรักษา แบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว 81.1 เปอร์เซนต์ สีเหลือง 18.3 เปอร์เซนต์ และสีแดง 0.6 เปอร์เซนต์
สำหรับยอดผู้ต้องขังติดเชื้อหายป่วยวันนี้เพิ่ม 50 ราย มีผู้ป่วยที่รักษาหายสะสมแล้ว 36,668 ราย หรือ 88.6 เปอร์เซนต์ ของผู้ติดเชื้อสะสม 41,372 ราย รวมยังมีผู้ต้องขังติดเชื้อที่อยู่ในการดูแลของกรมราช ทัณฑ์ 4,320 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตต่อเนื่องเป็นวันที่ 12 และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1เปอร์เซนต์ของผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด สรุปรูปภาพรวมในวันนี้ (22ก.ค.) พบเรือนจำที่แพร่ระบาดเพิ่ม 1 แห่ง คือ เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี ส่งผลให้เรือนจำสีขาวที่ไม่พบการแพร่ระบาดลดลงอยู่ที่ 112 แห่ง และเรือนจำสีแดง 21 แห่ง
ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ กำลังพิจารณาแผนการสิ้นสุดการระบาดของโรค (EXIT) ในเรือนจำ 6 แห่ง คือ เรือนจำจังหวัดสงขลา เรือนจจังหวัดสมุทรสาคร เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา ทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี และทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ที่ประสบผลสำเร็จควบคุมการระบาดได้บางส่วน และสามารถคัดแยกผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเพื่อกักโรค ตามแนวทางการบริหารจัดการการคัดออก (Screen Out) พร้อมตรวจหาเชื้อตามระยะเวลาและแนวทางสาธารณสุข ซึ่งคาดว่าจะสามารถสิ้นสุดการระบาดของโรค หรือ EXIT ได้ประมาณต้นเดือนสิงหาคมนี้
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อภาย นอกที่มีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ จึงได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริหารเรือนจำและทัณฑสถานทุกแห่ง เตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดทุกรูปแบบ ตั้งแต่การเตรียมแผนเผชิญเหตุ ทั้งในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อระหว่างแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่จากภายนอก และแผนควบคุมโรคเมื่อพบการแพร่ระบาดภายใน การส่งต่อผู้ต้องขังและประสานงานระหว่างเรือนจำภายในเขตเดียวกัน โดยต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด และเข้าใจหลักการปฏิบัติอย่างชัดเจน เพื่อให้การป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด