“คัดแยกขยะ” กู้ “โลกร้อน” พีรดา ปฏิทัศน์ “ปฏิวัติขยะ” ให้เป็น “น้ำมันเบนซิน”
“ก่อนมาทำตรงนี้ ไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย ยังคงมองว่าเรื่องขยะ เทศบาล อบต. เป็นคนเก็บ เราเป็นประชาชนมีหน้าที่ทิ้ง ไม่ได้มีจิตสำนึกอะไร แต่พอได้มาคัดแยกขยะด้วยตัวเอง ก็เกิดเป็นอัตโนมัติ ไม่อยากทิ้งขยะ อยากจะแยก เดี๋ยวนี้ เวลาเดินไปไหนเจอขยะก็เก็บหมด เพราะถุงพลาสติกได้น้ำมันอย่างดี เจอที่ไหนก็ไม่อายนะ เก็บเลย”
เสียงของ แอ๊ด-พีรดา ปฏิทัศน์ ประธานบริหารวิสาหกิจชุมชน แนวร่วมปฏิวัติขยะ สุพรรณบุรี เล่าถึงชีวิต “บีฟอร์-ฮาฟเตอร์” ก่อนและหลังลงมาเป็นแกนนำคัดแยกขยะ และนำมาแปรรูปโดยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เป็น “น้ำมันเบนซินและดีเซล”
เปลี่ยนจากสิ่ง “ไร้ค่า” มาเป็นสิ่งที่มี “มูลค่าเพิ่ม” ได้อย่างเป็นรูปธรรม
จุดเริ่มต้นที่พีรดาทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจทำงานนี้ เริ่มต้นหลังเกษียณจากงานประจำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กลับมาบ้านเกิด จ.สุพรรณบุรี เธอมุ่งเดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทำเกษตรอินทรีย์ “โคกหนองนาโมเดล” และทำ “โครงการธนาคารขยะ” ณ สวนพุทธชาติ ซึ่งเป็นของเธอเอง ในพื้นที่ชุมชนบางปลาม้า โดยชักชวนชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือน คัด-แยกขยะ ทั้งขยะเปียกและเศษอาหาร ทำน้ำหมักจุลินทรีย์ และนำไปใช้ในครัวเรือน
“เศษอาหารเมื่อถูกใส่จุลินทรีย์ มันจะไม่เกิดการบูดเน่า เปลี่ยนจากขยะเปียก เป็นขยะหอม ซึ่งสามารถนำไปฝังดินและทำปุ๋ยได้ แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ เทขยะรวมๆ กัน ก็ทำให้เกิดการบูดเน่า เลยทำให้คนไม่อยากเก็บ” พีรดาอธิบาย
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ได้จุดประกายให้พีรดา”ขยายงานต่อ” เมื่อได้พบกับ “นวัตกรรมที่นำพลาสติกมาเป็นน้ำมัน” คิดค้นโดย ศ.ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์ จากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“วันนั้น มองว่าประเทศไทยใช้น้ำมันราคาแพง ถ้าเอาขยะพลาสติกมาทำเป็นน้ำมัน แล้วเหลือราคาลิตรละ 20 บาทได้ ก็เป็นสิ่งที่ดี”
จากคัดแยกขยะเปียก นำมาสู่การรณรงค์ให้ความรู้การคัดแยกขยะพลาสติกสะอาด ถุง หลอด ฝาขวด ที่ไม่สามารถขายเพื่อรีไซเคิลได้ กับชาวบ้านในชุมชนกลุ่มต่างๆ นำไปสู่การก่อตั้ง วิสาหกิจชุมชน แนวร่วมปฏิวัติขยะ สุพรรณบุรี เมื่อปี 2562 ปัจจุบันมีสมาชิกจากหลากหลายอาชีพกว่า 800 คน โดยพีรดาใช้พื้นที่สวนพุทธชาติ เป็นศูนย์เรียนรู้สร้างโมเดลต้นแบบในการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนและครบวงจร ทั้งยังเป็นภาคีแลกเปลี่ยนการเรียนรู้กับ “มูลนิธิปันปัญญา” ยึดแนวคิด “ขุดทองจากขยะ เท่ากับปฏิวัติสิ่งแวดล้อม”
“เหตุผลที่เราตั้งชื่อกลุ่ม แนวร่วมปฏิวัติขยะ เราไม่ได้จะปฏิวัติยึดอำนาจรัฐ แต่เรายึดอำนาจถังขยะให้เป็นซีโร่เวสท์ (zero waste) เพราะคน 1 คน สร้างขยะวันละ 1-1.4 กิโลกรัม และใน 1 กิโลกรัม จำนวน 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะพลาสติก ที่เหลือคือขยะเปียก ขยะอันตราย และขยะติดเชื้อ ซึ่งถ้าประชาชนแยกขยะเองได้ รัฐจะประหยัดงบในการจัดการขยะ” พีรดาอธิบาย
ด้วยเหตุนี้ เธอจึงรณรงค์ให้ชาวบ้านคัดแยกขยะ โดยรับซื้อขยะพลาสติกต่างๆ กิโลกรัมละ 2 บาท โดยขยะ 1 ตัน ชาวบ้านได้ถึง 900 บาท
“เรารับซื้อพลาสติกจากชาวบ้าน ชาวบ้านก็ได้เงิน ได้รู้จักการแยกขยะ ซึ่งพอเรารณรงค์ ทุกคนอยากแยก และพอแยกแล้ว ก็มีแต่ความน่ารัก เช่น บางคนส่งไปรษณีย์มาให้เราเลย”
สำหรับกระบวนการผลิต “น้ำมัน” ใช้กระบวนการหลอมอัดอากาศ ซึ่งไม่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เรียกว่ากระบวนการ “ไพโรไลซิส” ไม่มีเสียงรบกวน มีเพียงกลิ่นน้ำมันเล็กน้อยเวลาเคลื่อนย้าย โดยใช้เป็นพลาสติกสะอาด เช่น ถุง หลอด ฝาขวด ที่ไม่สามารถขายเพื่อรีไซเคิลได้ นำมาผ่านกระบวนการไพโรไลซิส แปรรูปเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซล โดยขยะ 2 กิโลกรัม จะได้น้ำมัน 1.2 ลิตร
“ของเราเป็นโมเดลชุมชน ทำจากเครื่องเล็กๆ ผลิตน้ำมันได้วันละ 300 ลิตร จากขยะ 600 กิโลกรัม โดยเราขายน้ำมันให้ชาวนา ราคาลิตรละ 20 บาท ซึ่งถูกกว่าตามท้องตลาด”
ปัจจุบันเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมันได้ 4 พันกว่าลิตรแล้ว
“เราทำเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน ชาวนา ชาวบ้านได้ประโยชน์ น้ำมันดีเซล ชาวนานำไปใช้กับรถไถ รถขุด เครื่องสูบน้ำเข้านา สตาร์ตเครื่องดี เครื่องไม่ตก ควันน้อย ควันเป็นสีขาว ไม่เป็นเขม่าดำ น้ำมันสะอาด ส่วนน้ำมันเบนซิน นำไปใช้กับเครื่องตัดหญ้า”
นับได้ว่า “แนวร่วมปฏิวัติขยะ” เป็นชุมชนแรกในประเทศไทยที่แปรรูปขยะเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซล โดยที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้นำนวัตกรรมนี้ไปใช้นานกว่า 10 ปีแล้ว
“ประเทศไทยไม่เคยทำเลย เพราะไม่มีคนคัดแยกขยะ แนวร่วมปฏิวัติขยะ จึงเป็นชุมชนแรกของประเทศไทยที่เป็นโมเดลแบบนี้ เป็นธุรกิจโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์เพื่อชุมชน”
“ถามว่าได้กำไรไหม ได้ค่ะ ลิตรหนึ่งประมาณ 2 บาท เราไม่ได้กำไรเยอะ เพราะวัตถุประสงค์หลัก เราตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อกำจัดพลาสติก แล้วน้ำมันเป็นผลพลอยได้ สิ่งที่ได้คือ ประชาชนได้การคัดแยกขยะและได้ประโยชน์จากขยะมากกว่า และเกิดการจัดการสิ่งแวดล้อมใหม่ เป็นมิติใหม่ที่ไม่ต้องใช้เงินรัฐ ซึ่งตามสูตรของเราจะเป็นซีโร่เวสท์จริงๆ เหลือแค่ขยะอันตราย กับขยะติดเชื้อเท่านั้น”
จากผู้หญิงที่มองขยะไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง วันนี้ พีรดาบอกว่า มาเปลี่ยนมายด์เซตได้ตอนอายุ 50 ปี
“เพิ่งสำนึกได้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว พอเราเริ่มแยกขยะ มันเปลี่ยนพฤติกรรมเรา และพอเราเรียนรู้ว่า เราทำอะไรได้บ้าง แล้วเรารู้ถึงประโยชน์คุณค่า ทำให้ตอนนี้ไม่อยากทิ้งขยะแล้ว ไปที่ไหนเจอถุงก็จะเก็บ แนวร่วมฯก็เป็นอย่างนี้ทุกคน คือ ขุดทองจากขยะ เท่ากับปฏิวัติสิ่งแวดล้อม มุมมองขยะเปลี่ยนไปเลย เรารู้ว่ามันมีค่า และพยายามบอกผู้คนว่า ทำน้ำมันได้ ให้เขาเห็นคุณค่า มองขยะ อย่ามองว่าโลละ 2 บาท มองแบบนี้มันไม่มีค่าเลย เพราะกว่าจะได้แต่ละโลมัน
เยอะมาก แต่ถ้ามองว่า 2 กิโลกรัม คือ น้ำมัน 1.2 ลิตร ซึ่งแต่ก่อนน้ำมัน 1 ลิตร มาจากฟอสซิลที่เกิดจากซากสัตว์และซากพืชทับถมเป็นเวลาหลายล้านปี แต่น้ำมันของเรา เป็นน้ำมันที่ช่วยสิ่งแวดล้อมในการจัดการพลาสติก ซึ่งถ้าทุกคนปรับมุมคิดก็จะช่วยจัดการปัญหาโลกร้อนได้ด้วย เพราะปัญหาโลกร้อน มาจากขยะ อันดับ 1”
“ทุกวันนี้ รัฐรณรงค์การใช้ถุงพลาสติก แต่ไม่เคยบอกกล่าวชาวบ้านว่า ทำไมถึงต้องลดการใช้ เราบอกเขาได้ไหมว่า กระบวนการผลิตถุงพลาสติก มันปล่อยความร้อนออกมา ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ไม่มีใครบอก ชาวบ้านธรรมดา ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ จะเข้าใจได้ยังไง แต่พอเราบอกเขาแบบนี้ เป็นใครก็อยากลดการใช้”
“และแม้วันนี้ เราเอาพลาสติกมาแปรรูปเป็นน้ำมัน ก็ไม่ได้บอกว่าให้สร้างพลาสติกเยอะๆ นะ ยังคงรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติก แต่ให้ใช้อย่างรู้คุณค่าต่างหาก อะไรที่เป็นพลาสติกที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เราต้องปฏิเสธ พอเราปฏิเสธ ก็เท่ากับเป็นการลด พอเราลดพลาสติก โรงงานก็ผลิตพลาสติกน้อยลง ผลิตเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”
นี่คือสิ่งที่ต้องช่วยกัน เพราะสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ “แย่ลงเรื่อยๆ” พีรดาบอกด้วยความเป็นห่วง
“ดังนั้น เราต้องสร้างสมดุลใหม่ ตามแนวทางขับเคลื่อนโลกของสหประชาชาติ BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน”
พีรดาขยายความว่า B หรือ Bio คือ วันนี้เราเป็นเคมีเยอะ เคมีทำลายดิน อากาศ สุขภาพ เราต้องกลับมาเป็นไบโอ เป็นชีวภาพ เพื่อเรียกสมดุลธรรมชาติกลับมา พอเรียกสมดุลธรรมชาติกลับมา การเกิดภาวะโลกร้อน ภาวะแปรปรวนทางสภาวะอากาศก็จะลดน้อยลง
“ส่วน C คือ Circular คือ ขยะที่เราเก็บเอามาใช้ใหม่ ทำอย่างไรให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีคุณค่าที่สุด อย่างการนำพลาสติกมาเป็นน้ำมัน มันเกิดกากตะกอน เราก็เอาตะกอนมาทำเป็นยางมะตอย ซึ่งมันทำให้เกิดแก๊สในระหว่างทำการ เราเอาแก๊สนั้นมาเป็นเชื้อเพลิงเผาต่อ นี่คือ Circular Economy”
“สุดท้าย G หรือ Green คือ พลังงานสีเขียว ต้องลดการใช้พลังงานให้มาก การทำเกษตรอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มันก็ไม่ทำลายดิน ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ ทั้งหมดเป็นองค์รวมที่เราต้องกลับไปใช้กลไกขับเคลื่อนในทิศทางใหม่”
“ถ้าเรากู้ 3 เรื่องนี้กลับมา ซึ่งจะเกิดเป็นธุรกิจที่อยู่ในกรอบ และเกิดการสร้างโลกที่กลับมาใหม่ นี่คือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งก็คือ BCG ที่ยูเอ็นเอามาเขียนใหม่เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ซึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสมาก่อน เศรษฐกิจพอเพียง คือ การใช้อย่างรู้คุณค่า” พีรดากล่าว
อย่างไรก็ตาม พีรดาเป็นห่วงว่า การคัดแยกขยะในประเทศไทยที่ไม่เกิดขึ้นเพราะทุกคนคิดว่าเป็นภารกิจขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น คนจึงไม่ค่อยมอง แล้วก็มองง่าย คือ ให้ชาวบ้านรวมแล้วทิ้ง
“ถ้าทุกคนเปลี่ยนแนวคิด คิดว่าเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเรา แต่ทำเพื่อมวลมนุษยชาติ ที่ไม่ใช่แค่คน แต่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เล็กน้อย วันนี้ โลกร้อน ตายไปเป็นแสนสปีชีส์ แต่พอเราทำตรงนี้ขึ้นมา เราช่วยลดสภาวะโลกร้อนเท่าไหร่ มันจะช่วยกู้ชีวิตตรงนี้ คือ การเรียกสมดุลธรรมชาติกลับคืนมา ถ้าทุกคนคิดตรงนี้มันจะเปลี่ยน เพราะดิฉันยังเปลี่ยนเลย” พีรดาทิ้งท้าย