ทั่วไป
27 ก.ย. 2564 เวลา 17:41 น.
“อธิบดี ปภ.” แถลงเหตุอุทกภัย 27 ก.ย. คลี่คลาย 5 จังหวัด “เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง-บุรีรัมย์-นครปฐม” ยังเหลือ 23 จังหวัดท่วมอยู่ เฝ้าระวังใกล้ชิด 4 จังหวัด “นครราชสีมา-ชัยภูมิ-ลพบุรี-นครสวรรค์”
“อธิบดี ปภ.” แถลงเหตุอุทกภัย 27 ก.ย. คลี่คลาย 5 จังหวัด “เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง-บุรีรัมย์-นครปฐม” ยังเหลือ 23 จังหวัดท่วมอยู่ เฝ้าระวังใกล้ชิด 4 จังหวัด “นครราชสีมา-ชัยภูมิ-ลพบุรี-นครสวรรค์”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดี ปภ. แถลงข่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จากอิทธิพลของพายุโซนร้อย “เตี้ยนหมู่” ว่า ในวันนี้มีการประชุมของศูนย์บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ฯ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการศูนย์ และ ปภ. ในฐานะกองอำนวยการกลาง ได้ติดตามประเมินสถานการณ์อุทกภัย รวมถึงประสานงานไปยังทุกจังหวัดที่เกิดเหตุอุทกภัยว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร รุนแรงแค่ไหน
นายบุญธรรม กล่าวว่า จากการประชุม พบว่านับตั้งแต่อิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก กระจายไป 28 จังหวัด แต่สถานการณ์ในวันนี้คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง บุรีรัมย์ และนครปฐม ยังเหลือ 23 จังหวัดที่ยังประสบเหตุอุทกภัย แบ่งเป็น พื้นที่ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลุ่มแม่น้ำชี 3 จังหวัด ได้แก่ เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ลุ่มแม่น้ำมูล 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว และจันทบุรี ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา
นายบุญธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ที่เหลืออีก 23 จังหวัดนั้น ยังมีจังหวัดต้องเฝ้าระวังอย่างน้อย 4 จังหวัด ได้แก่ 1.นครราชสีมา โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง โดยสถานการณ์ที่ได้รับรายงานจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า ปริมาณน้ำในอ่างลดลง แต่ยังมีการระบายน้ำออกมาด้านนอกอ่างอยู่ เนื่องจากยังคงมีน้ำไหลเข้าอ่าง โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบมี 4 อำเภอ คือ อ.โนนไทย อ.โนนสูง อ.พิมาย และ อ.ด่านขุนทด โดยเฉพาะ อ.โนนไทย อ.โนนสูง และ อ.พิมาย ยังมีระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น
2.ชัยภูมิ เกิดสถานการณ์อุทกภัยเกือบทั้งจังหวัด ต้องเฝ้าระวังติดตาม มีมวลน้ำจาก อ.บำเหน็จณรงค์ เคลื่อนตัวไปยัง อ.จตุรัส โดยระดับที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบไปถึง อ.เมืองชัยภูมิ ที่ปัจจุบันมีการตั้งจุดอพยพเพื่อเคลื่อนย้ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำแล้ว นอกจากนี้ระดับน้ำยังส่งผลกระทบถึง อ.เนินสง่า และ อ.พรสวรรค์
3.ลพบุรี มีผู้เสียชีวิตจากกรณีอุทกภัยแล้ว 5 ราย สูญหาย 1 ราย พื้นที่เฝ้าระวังคือ อ.ลำสนธิ โดยสถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้น มวลน้ำไหลไปสู่ อ.ชัยบาดาล ก่อนจะไปลงที่แม่น้ำป่าสัก อย่างไรก็ดี อ.ชัยบาดาล ได้ร้องขอ ปภ. โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้ส่งสัญญาณแจ้งเตือน คาดว่าวันนี้มวลน้ำจะเข้าสู่พื้นที่เทศบาล ต.ลำนารายณ์ โดย ปภ. ส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปแล้ว ณ ที่ว่าการอำเภอชัยบาดาล เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง รวมถึงอาจมีผลกระทบไปยังพื้นที่ข้างเคียงคือ อ.บ้านหมี่ อ.โคกสำโรง และ อ.เมืองลพบุรี
4.นครสวรรค์ ปริมาณฝนตกในช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา สะสมกว่า 300 มิลลิเมตร ทำให้ปริมาณน้ำใน อ.ลำสาลี อ.หนองบัว และโซนนครสวรรค์ตะวันออก มีมวลน้ำค่อนข้างสูง โดยมวลน้ำใน อ.ลำสาลี และ อ.หนองบัว เริ่มลดและไหลมาสู่ อ.ท่าตะโก เป็นระดับน้ำที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะมีมวลน้ำจาก อ.ไพศาลี ไหลมายัง อ.ท่าตะโก ก่อนไปลงที่บึงบอระเพ็ด ขณะเดียวกัน อ.ชุมแสง มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนโซนนครสวรรค์ตะวันตก ปริมาณน้ำไหลมาลงสู่เขื่อนแม่วงค์ จะส่งผลถึง อ.ลาดยาว โดยเฉพาะเขตเทศบาลลาดยาว ระดับน้ำวันนี้เพิ่มสูงขึ้น เป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง และสถานการณ์มีระดับน้ำที่ต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด
อธิบดี ปภ. กล่าวด้วยว่า 4 จังหวัดเหล่านี้ได้ร้องขออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามา โดย ปภ. ได้ส่งเครื่องมือ อุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปแล้ว ขณะเดียวกันการปฏิบัติงานของฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ ประชาชน จิตอาสา และมูลนิธิในทุกพื้นที่ ได้ร่วมมือกันปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นอย่างดี ทั้งนี้หากประชาชนรายใดได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัย สามารถแจ้งเข้ามาที่สายด่วน 1784 ได้ตลอดเวลา