เมื่อวันที่ 26 ส.ค.นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงฤดูฝนของปีนี้มีปริมาณฝนตกไม่มากนัก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อน แหล่งน้ำต่างๆ ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำของพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น ยังมีปริมาณน้ำต้นทุนในระดับที่น้อย ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรและพี่น้องประชาชนบริเวณลุ่มเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะมีการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวต่อไป โดยเมื่อวานนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี เพชรบูรณ์ สุพรรณบุรี อุทัยธานี หนองบัวลำภู สกลนคร อุดรธานี นครราชสีมา สระบุรี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สระแก้ว พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 5 แห่ง และอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 แห่ง
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านข้อมูลแผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยาในวันนี้ (26 ส.ค.64 เวลา 01.00 น.) พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านพื้นที่ภาคเหนือไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งลักษณะแบบนี้จะทำให้มีอากาศร้อนกว่าพื้นที่โดยรอบ และทำให้ลมจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น ไหลเข้าไปบริเวณร่องความกดอากาศต่ำได้ ส่งผลให้มีปริมาณความชื้นและมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในประเทศไทยจากอิทธิพลดังกล่าวได้ โดยทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแจ้งเตือนฝนตกหนักมาก บริเวณ จ.จันทบุรีและระยอง และพื้นที่มีฝนหนักหลายพื้นที่ ได้แก่ บริเวณภาคกลาง ภาคเหนือฝั่งตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว ประกอบกับการขอรับบริการฝนหลวงของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 869 แห่ง และการตรวจวัดสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงในวันนี้ พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่
– หน่วยฯ จ.กาญจนบุรี ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก คือ พื้นที่การเกษตร จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี พื้นที่เป้าหมายรอง คือ พื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำกระเสียว ห้วยเทียน และเขื่อนศรีนครินทร์
– หน่วยฯ จ.ลพบุรี ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก คือ พื้นที่การเกษตร จ.ลพบุรี จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.นครสวรรค์ จ.สระบุรี พื้นที่เป้าหมายรอง คือ พื้นที่การเกษตร จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.สิงห์บุรี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคกลาง
– หน่วยฯ จ.ขอนแก่น ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก คือ พื้นที่การเกษตร จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยหลวง พื้นที่เป้าหมายรอง คือ พื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น จ.สกลนคร จ.หนองบัวลำภู
– หน่วยฯ จ.สุรินทร์ ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก คือ พื้นที่การเกษตร จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ พื้นที่เป้าหมายรอง คือ พื้นที่การเกษตร จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด
– หน่วยฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก คือ พื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์พื้นที่เป้าหมายรอง คือ พื้นที่การเกษตร จ.ชัยภูมิ
อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อีก 8 หน่วย จะยังคงติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที ซึ่งพี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง ติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account: @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100