สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
“พระร่วง” ใช่ว่าจะมีการขุดค้นพบเพียงที่ สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย เท่านั้น ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ก็มีพระร่วงทั้งประทับยืนและนั่ง ที่มีพุทธศิลปะงดงาม โดดเด่น มีความเป็นเลิศทางพุทธคุณ และทรงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาอย่างกว้างขวางในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องพระบูชาไม่แพ้พระร่วงกรุอื่นๆ ทีเดียว กล่าวถึง “พระร่วงยืนกรุเมืองสุพรรณบุรี” นั้น มีมากมายหลายกรุ ที่เด่นดังมีอาทิ พระร่วงยืน กรุวัดคูบัว, พระร่วงยืน กรุวัดปู่บัว, พระร่วงยืน กรุวัดลาวทอง, พระร่วงยืน กรุหนองแจง และ พระร่วงยืน กรุบ้านหัวเกาะ เป็นต้น ซึ่งแต่ละกรุจะมีพุทธลักษณะและพุทธคุณดังนี้
พระร่วงยืน กรุวัดคูบัว
แตกกรุที่วัดคูบัว อ.บางปลาม้า เมื่อปี พ.ศ.2476 ซึ่งนับเป็น กรุแรกที่มีการค้นพบพระร่วงยืนของ จ.สุพรรณบุรี เป็นพระเนื้อสนิมแดงเคลือบด้วยสนิมไขขาว บางองค์มีสีแดงเข้มมาก พุทธศิลปะเป็นแบบศิลปะสมัยอู่ทองล้อลพบุรี พุทธลักษณะพระเกตุเวียน ลำพระองค์ ลํ่าสันอวบอ้วน พระหัตถ์และพระบาทใหญ่
พระร่วงยืน กรุวัดปู่บัว
แตกกรุในราวปี พ.ศ.2476 ที่วัดปู่บัว ต.วิหารแดง อ.เมือง หลังจากวัดคูบัวเล็กน้อย เป็นพระเนื้อตะกั่วสีแดงเข้ม พระพุทธศิลปะแบบสมัยอู่ทอง มีทั้ง พิมพ์เศียรโต พิมพ์รัศมี และ พิมพ์ตาโปน เป็นต้น พิมพ์นิยมจะเป็น “พิมพ์เศียรโต”
พระร่วงยืน กรุวัดลาวทอง
วัดลาวทองตั้งอยู่ในอำเภอเมือง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาในสมัยลพบุรีตอนปลายหรืออยุธยาตอนต้น เดิมชื่อ “วัดเลา” ต่อมาเพี้ยนเป็น “วัดลาวทอง” เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวในวรรณคดี “ขุนช้างขุนแผน” วรรณคดีโบราณของเมืองสุพรรณ
พระร่วงยืน กรุวัดลาวทอง ส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง พุทธศิลปะแบบศิลปะลพบุรีและอู่ทอง นอกจากนี้ยังพบพระเครื่องอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ พระร่วงนั่ง พระนาคปรก พระซุ้มนครโกษา ฯลฯ
พระร่วงยืน กรุบ้านหนองแจง
แตกกรุในราวปี พ.ศ.2508 ที่บ้านหนองแจง อ.ดอนเจดีย์ พระที่พบส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง มีพุทธศิลปะแบบสมัยอู่ทองล้อลพบุรี มีหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์ข้างรัศมี พิมพ์เศียรโต พิมพ์ยกมือซ้าย ฯลฯ พิมพ์นิยมคือ “พิมพ์ข้างรัศมี” นอกจากนี้ยังพบพระร่วงนั่งอีกด้วย
พระร่วงยืน กรุวังวน
แตกกรุครั้งแรกในราวปี พ.ศ.2513 ลักษณะพิมพ์ทรงเหมือน พระร่วงเศียรโต กรุปู่บัว และกรุบ้านหนองแจง หลังจากนั้นยังมีการพบบ้าง แต่จำนวนพระไม่มากนัก และองค์พระส่วนใหญ่ชำรุด เพราะพระเทบางมาก เป็นพระเนื้อชินตะกั่ว สนิมแดง พุทธลักษณะเป็นพระยืนปางประทานพร พระเศียรใหญ่เป็นพิเศษ พระเกตุมาลาคล้ายฝาชีครอบ พระศกเป็นเส้นแบบผมหวี ด้านหลังเป็นลายผ้าเล็กน้อย เป็นบางจุด และมีไขขาว คราบขี้กรุสีเหลืองอ่อน เกาะติดตามผิวพระอย่างแน่นสนิท
พระร่วงยืน กรุบ้านหัวเกาะ
แตกกรุออกมาในราวปี พ.ศ.2510 ที่บ้านหัวเกาะ อ.เมือง เป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงแทบทั้งหมด กรุนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระกรุที่มีสนิมแดงที่แดงที่สุดของสุพรรณบุรี พุทธศิลปะเป็นแบบสมัยลพบุรีต่ออู่ทอง นอกจากนี้ยังมีพระร่วงนั่ง พระซุ้มนครโกษา และพระพิมพ์อื่นๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบพระร่วงยืนในอีกหลายๆ กรุของ จ.สุพรรณบุรี ในปีหลังๆ ออกไป อาทิ กรุท่าเสด็จ แตกกรุเมื่อปี พ.ศ.2513, กรุสองพี่น้อง (บางลี่) แตกกรุปี พ.ศ.2513, กรุหนองกระโดน แตกกรุปี พ.ศ.2525, กรุสวนแตง แตกกรุเมื่อปี พ.ศ.2532 และ กรุวัดราชเดชะ แตกกรุ ปี พ.ศ.2535 ฯลฯ
พุทธคุณ
พระร่วงทุกพิมพ์มีความเป็นเลิศในด้านแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรีทั้งสิ้น
แนวทางการพิจารณา
“สนิมแดง” นั้น ถ้าเป็นของเก่าแก่จะเกิดมาจากเนื้อในเกาะติดแน่น มีลักษณะเก่าและแห้ง ถ้าเอาสำลีมาเช็ดออกเบาๆ จะเกิดความเงาวาวขึ้นทันที นอกจากนี้ สนิมแดงส่วนใหญ่จะปรากฏรอยแตกปริเป็นเส้น ซึ่งจะทำให้สังเกตง่ายขึ้นครับผม