ภูมิภาค
เกษตรเลี้ยงปลาเดือดร้อนหนัก แม่น้ำท่าจีนเน่าปลากระชังตายเกลื่อน
วันจันทร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564, 19.17 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ริมแม่น้ำท่าจีน ช่วงบริเวณพื้นที่หมู่ 5 ต.เดิมบาง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ทั้งปลาทับทิมและปลานิลที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ในกระชังได้ทยอยตายอย่างต่อเนื่อง ผู้เลี้ยงปลาได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก บางกระชังปลาลอยตายเกือบทั้งหมด ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังขาดทุน นอกจากนี้ปลาที่อยู่ในแม่น้ำตามธรรมชาติก็ตายติดอยู่ริมตลิ่งไปด้วย กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาปกระชัง คาดว่าสาเหตุการตายของปลาน่าจะมาจากน้ำเกิดเน่าเสีย ซึ่งคาดว่ามาจากน้ำในคลองถ้ำเข้ อยู่ในเขตพื้นที่ อ.หันคา จ.ชัยนาท ที่ไหลลงมาในแม่น้ำท่าจีน อ.เดิมบางนางบวช จึงส่งผลให้น้ำในแม่น้ำท่าจีนเน่าเสียไปด้วย ทำให้ปลาที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ในกระชังขาดอ๊อกซิเจนลอยขึ้นเหนือน้ำตายจำนวนมาก
นางประสิทธิ์ ทองดี อายุ64ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง อ.เดิมบางนางบวช เปิดเผยว่าตนเองมีอาชีพเลี้ยงปลากระชังริมแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเลี้ยงปลากระชังไว้จำนวน 6 กระชัง โดยปลาที่เลี้ยงไว้มีอายุ 3 เดือนแล้ว อีกประมาณ 1 เดือนก็จะจับขายได้ แต่ต้องมาตายเกือบทั้งหมด ทำให้ตนเองได้รับความเสียหาย ทั้งที่ลงทุนไปแล้วเกือบสองแสนบาท ตนจึงต้องจับปลาที่เริ่มจะขาดอ๊อกซิเจนกำลังจะตายได้บางส่วนนำไปเร่ขายถอนทุน ได้ราคาเพียงแค่กิโลละ 30 บาทเท่านั้น จากเดิมถ้าจับปลาที่เลี้ยงไว้ครบกำหนด จะสามารถขายได้ราคากิโลละถึง 60-70 บาท
ล่าสุดนายเดชา รอดระรัง ประมงจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบความเสียหาย ของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังริมแม่น้ำท่าจีน เพื่อจะได้เร่งหาสาเหตุการตายของปลา ผลประกฎว่าปลาที่ตาย ส่งผลมาจากน้ำเริ่มเน่าเสียทำให้อ๊อกซิเจนในน้ำต่ำเกินค่ามารตราฐาน ซึ่งสาเหตุที่ออกซิเจนในน้ำแม่น้ำท่าจีนต่ำนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาในคลองถ้าเข้ไม่มีปริมาณน้ำ แต่เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา มีฝนตกลงมาในพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำจากคลองถ้าเข้ ไหลผ่านคลองที่มีผักตบชวาที่แห้งเมื่อมีน้ำเข้าไปในคลอง จึงทำให้ผักตบชวาที่มีอยู่เน่า ทำให้เกิดน้ำเสียไหลลงมาแม่น้ำท่าจีน เริ่มจากบริเวณบ้านปากน้ำ เป็นเหตุให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ส่งผลให้ปลาที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ในกระชังและปลาธรรมชาติในแม่น้ำท่าจีนขาดอ๊อกซิเจนลอยขึ้นมาเหนือน้ำตายจำนวนมาก อย่างไรก็ตามทางประมงอยู่ระหว่างเร่งหาแนวทางแก้ไขและช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่