3 มิ.ย.64 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,886 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,607 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,362 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 1,245 ราย อยู่ในเรือนจำและสถานที่ต้องขัง 1,230 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 49 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 169,348 ราย ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 3,626 ราย ยอดผู้หายป่วยสะสม 118,204 ราย อยู่ระหว่างรักษา 49,998 ราย อาการหนัก 1,208 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 373 ราย
ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 39 ราย เป็นชาย 20 ราย หญิง 19 ราย อยู่ในกทม. 24 ราย นนทบุรี ภูเก็ต จังหวัดละ 2 ราย ชลบุรี ชัยภูมิ เชียงราย ตาก นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ปัตตานี สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี และอ่างทอง จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มียอดเสียชีวิตสะสม 1,146 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 172,424,472 ราย เสียชีวิต 3,706,561 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขสะสมผู้ติดเชื้อในกทม. 44,112 ราย ปริมณฑล 23,272 ราย จังหวัดอื่นๆ 43,580 ราย ในเรือนจำ 28,647 ราย การจัดอันดับจังหวัดผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ 10 อันดับ ได้แก่ 1.กทม. 995 ราย 2.เพชรบุรี 380 ราย 3.นนทบุรี 336 ราย 4.สมุทรปราการ 323 ราย 5.ตรัง 92 ราย 6.สมุทรสาคร 76 ราย 7.ปทุมธานี 60 ราย 8.ชลบุรี 46 ราย 9.ฉะเชิงเทรา 40 ราย 10.นครปฐม และสระบุรี 31 ราย
ทั้งนี้มีการพูดคุยกันถึงเหตุของการระบาดในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งการประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ได้นำคลัสเตอร์ต่างๆมาจำแนกและวางแผนการทำงานในแต่ละเขต เราไม่มีการปิดบังในพื้นที่หรือชื่อเฉพาะใดๆ โดยคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังจำนวน 50 แห่ง มีกลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด 39 แห่ง กลุ่มเฝ้าระวัง 9 แห่ง และคลัสเตอร์ที่พบใหม่ 2 แห่ง ในเขตบางซื่อและเขตราชเทวี เป็นแคมป์คนงาน จึงขอให้ผู้ประกอบการและเขตต่างๆในกทม.นำชุดข้อมูลเหล่านี้ไปสู่การเฝ้าระวัง ซึ่งมีการพูดคุยกันว่าถึงแม้สถานที่จะเป็นการเฉพาะ แต่เชื้อโรคไม่ได้ฝังอยู่กับสถานที่ แต่อยู่กับตัวบุคคล ฉะนั้นหากตัวบุคคลย้ายสถานที่ก็จะเป็นเหตุในการแพร่ระบาดของโรค จึงอยากให้ทุกคนในเขตและพื้นที่ต่างๆใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์
ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้เน้นย้ำมอบให้รองปลัด กทม. ซึ่งมีหลายท่าน ดูแลเป็นกลุ่มเขตทั้งหมด 50 เขต รับผิดชอบโดยตรงในการดูแลพื้นที่ ให้เป็นหัวหน้าทีมในการควบคุมโรคผ่านผู้อำนวยการสำนักงานเขต จะมีการประชุมใกล้ชิดและรายงานการจัดการโรคต่อ ศปก.ศบค.