ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ยังคงหลงเหลือให้เห็นเป็นกำแพงเมืองเก่าและประตูเมืองเก่าของสุพรรณบุรี ระหว่างทางไปวัดป่าเลไลยก์กับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กำแพงทางด้านทิศตะวันตกของเมืองทำแข็งแรงเป็นพิเศษสองชั้น มีคูน้ำกั้นอยู่ชั้นนอก มีเนินดิน และกำแพงอยู่ชั้นในยาวถึง 3,500 เมตร ส่วนด้านกว้างกำแพงยาว 1,000 เมตร จรดกับแม่น้ำ ด้านตะวันออกไม่พบตัวกำแพงเพราะถูกรื้อทำลายในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิหลังสงครามเมื่อปี พ.ศ. 2091 ด้วยทรงเห็นว่าหากข้าศึกตีเมืองสุพรรณบุรีได้ ก็จะใช้ประโยชน์ในการป้องกันตนเองจากกองทัพกรุงศรีอยุธยา จึงเห็นสมควรให้รื้อกำแพงเมืองหน้าด่านทั้งสามเมืองคือ สุพรรณบุรี ลพบุรี และนครนายกลงเสียโดยลักษณะภูมิประเทศของสุพรรณบุรีที่ปรากฏร่องรอยให้เห็น จากภาพถ่ายทางอากาศ เป็นเมืองที่มีคูน้ำและกำแพงเมืองล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรีเชื่อกันว่าแต่เดิมมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ มีฐานะเป็นเมืองอิสระร่วมสมัยกับสุโขทัย ต่อมาเมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองนี้จึงถูกลดความสำคัญลงเป็นเพียงเมืองลูกหลวง ขนาดของเมืองก็ถูกลดลงเหลืออยู่เพียงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอย่างไรก็ดีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอายุสมัยการสร้างตัวเมืองหรือแม้แต่การที่กำแพงเมืองเป็นเชิงเทินปักเสาระเนียดหรือก่อด้วยอิฐ ฯลฯ ยังคงมีความคลุมเครืออยู่ หากแต่สันนิษฐานได้ว่าประตูเมืองที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ตามแบบกรมศิลปากรตรงกับสถานที่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของประตูเมืองเดิมเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 09.00-17.00 น.