วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2024

จิตรา คชเดช จากผู้นำแรงงานหญิงสู่ช่างเย็บผ้าในสวีเดน – BBC News ไทย

  • วิชุตา ครุธเหิน
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

จิตรา คชเดช

ที่มาของภาพ, Jittra Cotchadet

เป็นเวลา 6 ปีมาแล้วที่จิตรา คชเดช นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน Try Arm ตัดสินใจมาลงหลักปักฐานที่ประเทศสวีเดน ดินแดนที่เลื่องชื่อเรื่องสวัสดิการสังคม ความเสมอภาคของพลเมือง และเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนมีความสุขที่สุดในโลก

ชื่อของ จิตรา หรือ หนิง เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำสหภาพแรงงานที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของลูกจ้าง ก่อนหันมาทำงานด้านสิทธิสตรีและเป็นนักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ทว่ามรสุมทางการเมืองในยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครองในปี 2557 ก็ทำให้เธอตัดสินใจอำลาแผ่นดินเกิดไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในดินแดนที่อยู่อีกฟากของโลก

แม้ต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคมากมายจนเคยถึงขั้นคิดสั้น แต่ในที่สุดเธอก็กลับมาลุกยืนขึ้นได้ และค้นพบความสุขกับการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายที่บ้านใหม่หลังนี้

ชีวิตผู้นำแรงงานหญิง

เส้นทางสายนี้เริ่มขึ้นตอนที่จิตราเข้าไปทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่โรงงานผลิตชุดชั้นในไทรอัมพ์ในปี 2536 พนักงานที่นั่นให้ความสนใจเรื่องการเมือง มีการจับกลุ่มศึกษาแนวคิดทางการเมืองแบบต่าง ๆ ทำให้จิตรา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นได้เริ่มสนใจเรื่องการเมือง มีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมด้านนี้ จนได้รับการสนับสนุนให้เข้าเป็นกรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และได้ทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นประธานสหภาพแรงงานในที่สุด

จิตรา ซึ่งมีพื้นเพมาจากสุพรรณบุรีเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า “การทำงานสหภาพแรงงานของหนิง เราผ่านการศึกษาแนวคิดทฤษฎีมาร์กซิสต์ เรื่องมูลค่าส่วนเกิน (surplus value) แล้วก็ปรับมาใช้เป็นภาษาง่าย ๆ กับคนงาน แล้วจัดกลุ่มศึกษาให้คนงานเข้าใจเรื่องกำไร ว่าบริษัทได้กำไรเท่าไร เราทำให้คนงานเห็นว่าเย็บเสื้อในหนึ่งตัวได้กำไรเท่าไร ต้นทุนเท่าไร”

คำบรรยายภาพ,

การทำงานในสหภาพแรงงาน ทำให้จิตราได้ยินได้ฟังปัญหาต่าง ๆ ของเพื่อนร่วมงาน จึงทำให้เธอสนใจในประเด็นด้านสิทธิสตรี

ตลอดช่วงที่ทำงานในสหภาพแรงงาน จิตราได้ต่อสู้อย่างเข้มแข็งเพื่อให้แรงงานได้รับเงื่อนไขการทำงานที่เป็นธรรม

“ไทรอัมพ์เป็นบริษัทที่มีค่าจ้างสวัสดิการที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าในประเทศไทย แต่มันไม่ได้มาเพราะนายจ้างใจดีอะไรนะ มันมาจากการที่เรามีสภาพแรงงานที่เข้มแข็ง…ตอนสมัยหนิงทำงานไทรอัมพ์มีค่าทำฟันให้คนงาน 3,500 บาทต่อคน ซึ่งมันดีมาก ๆ”

ช่วงที่ทำงานในสหภาพแรงงาน จิตราได้ยินได้ฟังปัญหาต่าง ๆ ของเพื่อนร่วมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ตั้งแต่เรื่องปากท้อง การถูกกดขี่ ความรุนแรงในครอบครัว ไปจนถึงการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ นี่จึงทำให้เธอสนใจในประเด็นเกี่ยวกับสตรี โดยเฉพาะเรื่องสิทธิการทำแท้ง

การทำงานเหล่านี้ยังช่วยให้จิตราได้เข้าใจเรื่องการเมืองในมิติต่าง ๆ แล้วหันมาทำกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น ทว่ามันได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามเล่นงาน ด้วยการนำเรื่องที่เธอสวมเสื้อสกรีนข้อความว่า “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” ไปออกรายการโทรทัศน์เพื่อแสดงการสนับสนุนผู้ถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 112 เพราะไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ไปแจ้งต่อนายจ้าง ส่งผลให้ท้ายที่สุดนายจ้างนำเรื่องนี้ไปขออำนาจศาลแรงงานให้เลิกจ้างเธอ ซึ่งศาลตัดสินให้ทำได้โดยให้เหตุผลว่าเธอ “ไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติไทย”

มรสุมการเมือง

หลังถูกเลิกจ้างงาน จิตราทำงานในฐานะที่ปรึกษาสหภาพ และเมื่อไทรอัมพ์เลิกจ้างงานคนงาน 1,959 คนในปี 2552 จิตราจึงชักชวนคนกลุ่มนี้ที่เคยสนับสนุนเธอสมัยที่เป็นประธานสหภาพมาตั้งสหกรณ์คนงาน Try Arm ทำกางเกงชั้นในขายโดยเน้นระบบการซื้อขายที่เป็นธรรมกับทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ

ขณะเดียวกันจิตราก็หันไปทำงานในภาคประชาสังคมและการเมืองมากขึ้น รวมทั้งออกมาประกาศตัวเป็นคนเสื้อแดงหลังจากได้เห็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ เมื่อ 10 เม.ย. 2553

“ตอนนั้นหนิงออกมาเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนเสื้อแดง ว่าคนเสื้อแดงถูกฆ่ายังไง ประกาศตัวว่าเป็นคนเสื้อแดง เพราะเราเห็นเหตุการณ์ว่าคนโดนอะไรบ้าง ประกอบกับเรามีต้นทุนที่สามารถพูดได้มากกว่าชาวบ้านที่มาชุมนุม…หนิงก็เลยกลายเป็นคนเสื้อแดง”

คำบรรยายวิดีโอ,

จิตรา คชเดช ระดมทุนทำกางเกงในให้นักโทษหญิง

ทว่าเมื่อเห็นว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาในปี 2554 ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้เอาผู้อยู่เบื้องหลังการใช้ความรุนแรงกับคนเสื้อแดงมาลงโทษ จิตราจึงตัดสินใจร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชาธิปไตย ซึ่งมีการพูดถึงเรื่องมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย และเข้าไปมีบทบาทการรณรงค์ในหลายภาคส่วน จิตราคิดว่าจุดนี้เองทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูก คสช. ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพ่งเล็งและถูกเรียกไปรายงานตัว

แต่เนื่องจากช่วงนั้นจิตราไปศึกษาดูงานที่ประเทศสวีเดนพอดี จึงไม่สามารถไปรายงานตัวได้ และเมื่อเดินทางกลับมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ก็โดนควบคุมตัวในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และถูกฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เป็นเวลา 8 ชั่วโมง ช่วงเวลาดังกล่าวได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอตระหนักว่าจะอยู่ประเทศนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว

“ครึ่งคืนนั้นเรารู้สึกว่าเราพบกับความเจ็บปวด ให้เราถอดเสื้อผ้า ตรวจภายใน ให้เราถ่ายรูปเป็นนักโทษหญิง แต่งตัวเป็นนักโทษ ชั่งน้ำหนักเราแล้วก็เอามาปากกาเมจิกมาเขียนทับด้วยส่วนสูง หนิงคิดว่าการทำแบบนั้นมันละเมิดสิทธิเรามาก ๆ แล้วก็เป็นความเจ็บปวด” จิตราเล่า

“ตอนที่อยู่ในเรือนจำบอกตัวเองว่า กูคงอยู่เมืองไทยไม่ได้แล้วล่ะ เราคงไม่เหมาะกับประเทศนี้จริง ๆ เพราะเรารู้สึกว่ามันแย่มาก ๆ ทำไมถึงทำกับเราขนาดนี้ เอาเข้าเรือนจำ ทำเราเป็นนักโทษแล้วอะ”

หลังจากสู้คดีตามกระบวนการ ในที่สุดศาลทหารก็มีคำวินิจฉัยยกฟ้องคดีดังกล่าว

ชีวิตที่เริ่มจากศูนย์ในสวีเดน

จิตราย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในเมืองทางภาคตะวันออกที่ไม่ไกลจากกรุงสตอกโฮล์ม แม้จะมีเพื่อนชาวสวีเดนคอยให้ความช่วยเหลือ แต่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ไม่ต่างจากการเริ่มหัดเดินหัดพูดของเด็กน้อย

ในช่วง 2 ปีแรกจิตราอาศัยอยู่กับเพื่อน และทุ่มเทเวลาไปกับการเรียนภาษาสวีเดน ซึ่งเป็นบริการฟรีที่รัฐจัดให้แก่ผู้อพยพทุกคน แต่ความยากลำบากในการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ทำให้เธอรู้สึกสิ้นหวังถึงขั้นเคยคิดฆ่าตัวตาย

“2 ปีแรกหนิงพบจิตแพทย์ทุกสัปดาห์เลยนะ…เพราะรู้สึกว่าตัวเองผิดที่ผิดทางมาก ไม่รู้ว่ามาทำไม เพราะมันต้องมาเริ่มเรียนภาษาใหม่ มันไม่มีพื้นที่ของตัวเองเลย เรามาทำไม ทั้ง ๆ ที่เราอยู่ไทยเรามีพื้นที่ของเราเยอะแยะ เรามีงานทำ เรามีรายได้ เรามีทุกอย่าง…”

“แย่มาก ๆ เพราะหนึ่งไม่รู้จะทำอาชีพอะไร ภาษาก็ไม่ได้ มองไม่เห็นทิศทางเลยว่าตัวเองจะทำงานอะไร จะใช้ชีวิตยังไงต่อไป คือเหมือนกับมาแล้ว แต่จะไปต่อก็ไม่รู้จะไปต่อยังไง มองไม่เห็น ที่อยู่ก็ไม่มี ไม่รู้จะไปอยู่ไหน มันไม่มีอะไรเลย…”

“เคยคิดว่ากินเหล้าเมา ๆ แล้วให้หิมะมันถมตายดีไหม จะตายที่ไหน มันคิดไปหมดนะ…คนจะพูดถึงเรายังไง จะตายแบบไหนดีที่จะตายแบบสงบที่คนจะไม่พูดว่าเราไปยังไง มันไม่อยากมีชีวิตอยู่ แล้วเพื่อนเขาเห็น เขาก็รีบโทรหาโรงพยาบาล…”

“หนิงไปพบจิตแพทย์ครั้งแรกพูดไม่ได้เลย ร้องไห้ 1 ชั่วโมงเต็ม พูดไม่ได้เลย ร้องไห้ตลอด พบนักบำบัดอยู่ 2 ปี กินยาด้วยอะไรด้วย”

จิตราบอกว่า ในท้ายที่สุดนักจิตบำบัดช่วยให้เธอมีความมั่นใจว่าการใช้ชีวิตในสวีเดนคือเรื่องที่เป็นไปได้ โดยหลังจากเรียนภาษา เธอก็เริ่มหางานทำโดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานจัดหางาน และได้งานประจำที่ร้านซ่อมแซมเสื้อผ้าเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเมือง ซึ่งเธอทำมาได้ 4 ปีแล้ว

คุณภาพชีวิตแรงงานในสวีเดน

ที่มาของภาพ, Jittra Cotchadet

คำบรรยายภาพ,

จิตราบอกว่างานซ่อมแซมเสื้อผ้าช่วยให้เธอมีบ้านเป็นของตัวเอง และใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างเรียบง่าย

ในฐานะนักสหภาพแรงงาน การได้มาใช้ชีวิตและทำงานที่สวีเดนทำให้จิตราได้เห็นถึงความแตกต่างด้านความเป็นอยู่ระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานในสวีเดน โดยเฉพาะการที่ลูกจ้างมีรายได้ที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ทำให้สามารถดำรงชีพ มีที่อยู่อาศัยของตนเอง และมีเงินเก็บได้ หากใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายไม่หรูหราฟุ่มเฟือย

นอกจากนี้การเป็นประเทศที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็ง ก็ช่วยป้องกันนายจ้างเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง และทำให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน (collective bargaining agreement) ที่เป็นธรรม

“ที่สวีเดน ดีอยู่อย่างหนึ่งคือ ตัวค่าจ้างไม่ได้เยอะอะไรมาก แต่ตัวค่าครองชีพมันทำให้รายได้สามารถอยู่ได้ เพราะค่าครองชีพไม่ได้สูงมาก คือตัวค่าครองชีพกับค่าจ้างเหมาะสมกัน…”

“เวลาคนถามว่าค่าจ้างขั้นต่ำมันต้องเท่าไร มันตอบไม่ได้ ถ้าสมมุติว่าค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 10,000 แต่จะต้องกินข้าวมื้อนึง 8,000 มันก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าครองชีพ ของอุปโภคบริโภค ค่าเช่าบ้าน ค่าโน่นค่านี่มันต้องเหมาะสมกัน ซึ่งสวีเดนจัดการเรื่องนี้ได้ดี ทำให้เรามีรายได้เท่านี้ แต่ยังมีเงินเก็บด้วย จ่ายค่าเช่าบ้าน และจ่ายค่าอาหารได้”

สวีเดนดินแดนแห่งรัฐสวัสดิการ

สวีเดนเลื่องชื่อว่าเป็นรัฐสวัสดิการซึ่งมีระบบประกันสังคมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยภาครัฐจัดสรรบริการต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า เช่น การศึกษาฟรีทุกระดับชั้น บริการด้านสุขภาพรวมถึงการดูแลเด็กและคนชราที่แม้จะไม่ฟรีแต่ก็มีค่าบริการที่ค่อนข้างต่ำ

แต่การเป็นรัฐสวัสดิการได้นั้น มาจากเงินภาษีที่ประชาชนจ่าย ซึ่งในสวีเดนใช้ระบบการเรียกเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า

โซฟี เทงสเวเดน นักเขียนด้านวัฒนธรรมสวีเดนอธิบายเรื่องนี้กับบีบีซีว่า “สวีเดนขึ้นชื่อเรื่องการเก็บภาษีในอัตราสูงที่สุดในโลก แต่ในความเป็นจริงแล้วมีความซับซ้อนกว่านั้น สวีเดนมีระบบเรียกเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ซึ่งหมายความว่าคนที่มีรายได้สูงจะจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่าคนที่มีรายได้ต่ำ”

“เงินภาษีส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพเด็ก การลาคลอดบุตร และการช่วยเหลือด้านการเลี้ยงบุตร” เธอกล่าว

แม้อัตราการเรียกเก็บภาษีจะค่อนข้างสูง คือภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐบาลท้องถิ่นเฉลี่ย 32.34% และภาษีที่จ่ายให้แก่รัฐบาลกลาง 20% แต่คนสวีเดนไม่รังเกียจการจ่ายภาษีแพง เพราะมีความเชื่อมั่นในหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีว่าจะนำเงินที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้มีรายได้ต่ำมีสิทธิเข้าถึงบริการต่าง ๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข และการดูแลคนสูงวัย ได้อย่างเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม

ระบบรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้าของสวีเดนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวคิดปัจเจกชนนิยมรัฐ (statist individualism) ซึ่ง เฮนริก เบกเกรียน และลาร์ส แทรโกรดห์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชาวสวีเดนเป็นผู้นิยามคำนี้ขึ้น เพื่ออธิบายถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัฐกับบุคคล โดยประชาชนสวีเดนมีความเชื่อใจในรัฐบาลสูง และมองรัฐเป็นมิตรมากกว่าศัตรู การเข้าไปแทรกแซงของรัฐผ่านการสร้างระบบและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะช่วยปลดปล่อยบุคคลให้เป็นอิสระ สามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากครอบครัว องค์กรทางศาสนา หรือองค์กรการกุศล

นี่จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่วัยรุ่นสวีเดนจะแยกจากครอบครัวออกไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยตนเองเมื่ออายุครบ 18 ปี หรือคนชราที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังโดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากลูกหลาน อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์ว่า แม้จะมีข้อดี แต่แนวคิดนี้ก็ทำให้สวีเดนเป็นสังคมที่ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง

งานวิจัยของสำนักงานสถิติแห่งชาติสวีเดนเมื่อปี 2019 พบว่า 16.8% ของคนอายุ 16-24 ปี “รู้สึกโดดเดี่ยวในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา” ขณะที่คนอายุ 75 ปีขึ้นไปมีความรู้สึกดังกล่าวอยู่ราว 17.4%

ปัญหานี้สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นข่าวน่าสลดใจอยู่เนือง ๆ ถึงผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังและเสียชีวิตโดยที่ไม่มีใครรู้ ยกตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ หน่วยงานบังคับคดีสวีเดนขายอะพาร์ตเมนต์ที่เจ้าของหายตัวไปไม่จ่ายค่าบ้านนาน 2 ปี โดยไม่สังเกตเห็นว่าอะพาร์ตเมนต์ที่นำขายทอดตลาดและเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมนั้น มีศพเจ้าของอยู่ใต้เตียง ภายในห้องที่เต็มไปด้วยข้าวของมากมาย

ความสุขในสังคมแห่งความเท่าเทียม

ในรายงานความสุขโลก (World Happiness Report) ประจำปี 2022 จัดให้สวีเดนอยู่ในอันดับ 7 ของประเทศที่ผู้คนมีความสุขที่สุดในโลก โดยปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาดัชนีชี้วัดความสุข ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ต่อหัว สวัสดิการสังคม สุขภาพและอายุคาดเฉลี่ยของคนในประเทศ ระดับความมีเสรีภาพ ความอดทนอดกลั้น และปัญหาการทุจริต

ระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าในสวีเดนยังเป็นผลพวงจากค่านิยมเรื่องความเสมอภาคซึ่งเป็นเสาหลักของวัฒนธรรมสวีเดน ที่กำเนิดมาจากแนวคิดที่เรียกว่า “ยันเตอลอเกน” (Jantelagen) หรือกฎหมายแห่งยันเตอ อันเป็นหลักปฏิบัติตนในสังคมที่ยึดถือกันในประเทศกลุ่มนอร์ดิก โดยเฉพาะสวีเดน ซึ่งเน้นย้ำถึงเรื่องความเท่าเทียมของคนในสังคม โดยสอนให้คนไม่โอ้อวดความร่ำรวย หรือความสำเร็จของตน หรือคิดว่าตนเองดีและฉลาดกว่าคนอื่น

ที่มาของภาพ, Jittra Cotchadet

คำบรรยายภาพ,

แม้อยู่ต่างแดน แต่จิตรายังคงทำกิจกรรมทางการเมืองเมื่อมีโอกาส

นี่จึงทำให้คนสวีเดนมองว่าทุกอาชีพมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ซึ่งจิตราก็สัมผัสได้ถึงเรื่องนี้เมื่อได้ไปใช้ชีวิตในสวีเดน

เธอเล่าว่า ที่สวีเดนไม่ว่าจะทำงานออฟฟิศหรือทำงานซ่อมแซมเสื้อผ้าก็ล้วนเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับ และมีคุณค่าทัดเทียมกัน

“ไม่มีความแตกต่างใด ๆ เลย…ทุกคนแบบว้าวหมดเลย ถามว่าเธอเป็นคนเย็บผ้าเหรอ ทำไมเธอเก่งจังเลย ฉันอยากทำได้แบบเธอจังเลย…” จิตราบอก

เมื่อมองย้อนกลับไปถึงการที่จิตราทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานมาหลายปี หลายคนจึงรู้สึกเสียดายความรู้ความสามารถด้านนี้ของเธอ แต่จิตราบอกว่า แม้จะมีประสบการณ์มามากมาย แต่การทำงานด้านนี้ในสวีเดนไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน โดยเฉพาะอุปสรรคทางด้านภาษา

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีโอกาส เธอก็ให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องแรงงานไทยเท่าที่ทำได้ เช่น กรณีที่คนงานไทยไปเก็บเบอรี่ในสวีเดนในระยะสั้น แล้วมีปัญหาเรื่องสภาพการจ้างและค่าจ้าง เธอได้ช่วยติดต่อประสานขอความช่วยเหลือกับสหภาพแรงงานในพื้นที่และสถานทูตไทย

เมื่อถามถึงอนาคต จิตราบอกว่าแม้ในช่วงต้นจะเผชิญกับความยากลำบากต่าง ๆ แต่ก็คิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกแล้วที่เลือกย้ายมาอยู่สวีเดน และทุกวันนี้มีความสุขกับการใช้ชีวิตในบ้านใหม่หลังนี้

“ก็มองอนาคตว่าจะอยู่สวีเดนไปจนบั้นปลายชีวิต เพราะที่ไทยก็ไม่ได้มีความหวังอะไรกับใคร คงไม่มีใครดูแลเรา ต่อให้อยู่ในไทยเราก็อยู่คนเดียวอยู่ดี อยู่ที่นี่เราก็อยู่คนเดียว อยู่คนเดียวแบบที่ตอนแก่ ๆ ยังมีรัฐที่ช่วยดูแลเรา”

สุพรรณบุรี

สุพรรณบุรี

สุพรรณบุรี เมืองยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้นชื่อ เลื่องลือพระเครื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง

Related Posts

Next Post

บทความ แนะนำ

No Content Available

หมวดบทความ

การก่อสร้าง การขนถ่ายสินค้า การค้าวัสดุก่อสร้าง การฆ่าสัตว์ การติดตั้งไฟฟ้าสายหลัก การปั้มโลหะ การผลิต การบรรจุก๊าซ การผลิตน้ำแข็ง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยเคมี การผลิตรองเท้า การผลิตและบรรจุยา การหล่อหลอม การกลึงโลหะ การเคลือบ ชุบ อาบขัดโลหะ การเลี้ยงสัตว์ กิจกรรม ข่าว ตรวจหวย ธุรกิจ บริการซัก อบ รีด บริษัท มูลนิธิ ร้านค้า ร้านอาหาร วิถีชีวิต สถานที่ท่องเที่ยว สถานศึกษา สพป.สุพรรณบุรี เขต 1 สพป.สุพรรณบุรี เขต 2 สพป.สุพรรณบุรี เขต 3 สพม.เขต 9 สมาคม หน่วยงานราชการ อบต. เครื่องดื่ม เบเกอรี่/ขนม/ไอศกรีม เอสเอ็มอี แฟรนไชส์ โรงงาน โรงพยาบาล บริการสุขภาพ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนศิลปะและกีฬา โรงเรียนสอนวิชาชีพ โรงเรียนสามัญ โอทอป

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.